“
กอบกาญจน์”
เน้นแผนท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรมเหนือตอนล่าง
4 จังหวัด ดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่น
กระตุ้นการจับจ่าย ผ่านการท่องเที่ยวโดยชุมชน
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า
กลยุทธ์เชิงนโยบายของการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทย คือ
เน้นเรื่องให้นักท่องเที่ยวเกิดการกระจายตัว โดย จากการลงพื้นที่เขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรม
(สุโขทัย,พิษณุโลก ,กำแพงเพชร และตาก) ได้พบว่า
นักท่องเที่ยวต่างชาติจากฝรั่งเศส และเยอรมัน เป็นชาวต่างชาติที่มาเที่ยวมากที่สุด
ส่วนพฤติกรรมนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ให้ความสนใจ
เข้าชมเส้นทางอุทยานประวัติศาสตร์ เชื่อมโยง 3 เมืองมรดกโลก สุโขทัย,กำแพงเพชร และศรีสัชนาลัย จากสถิติพบว่ารายได้ของ
4 จังหวัดในปี 2559 รวมเป็นเงิน 18,114 ล้านบาท
และในครึ่งปีแรก (ม.ค. – มิ.ย. 60) สร้างรายได้
9,675 ล้านบาท เติบโต
5.04 เมื่อเทียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วและมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในสิ้นปีนี้
หากสามารทำให้นักท่องเที่ยวพักค้างคืนนานขึ้น
ใช้จ่ายมากขึ้นในแหล่งท่องเที่ยวมรดกวัฒนธรรม และชุมชนต่างๆ
ทั้งนี้ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ได้มอบนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยให้เน้นการส่งเสริมอัตลักษณ์
และวิถีของท้องถิ่น รวมถึงเน้นการกระจายรายได้จากเมืองหลัก สู่เมืองรองและชุมชน
อาศัยการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านการท่องเที่ยวรูปแบบต่าง ๆ เช่น medical&wellness, Sport Tourism และ Gastronomy ทั้งนี้ ทางรัฐบาลได้นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน และคณะรัฐมนตรีได้ประกาศให้ปี
2561 เป็นปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน แล้ว
ส่วนความคืบหน้าการจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยว
ประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกฯ โดยคณะทำงาน (อพท.4) ได้เสนอ 7 เส้นทาง 100
แหล่งท่องเที่ยว ภายในเขต 4 จังหวัด (สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร และตาก) ซึ่งเน้นการท่องเที่ยวตามแนวทาง "มรดกโลก
กินได้" และ tourism
for all พร้อมปฏิทินการท่องเที่ยวภายในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกฯ
โดยจะมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเรื่องขอรับการสนับสนุนจาก คณะกรรมการฯ 3 ประเด็น
ได้แก่
1. การนำรถข้ามแดนเพื่อการท่องเที่ยวจากชายแดนเข้าสู่พื้นที่ชั้นใน
4 จังหวัดของเขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกฯ
2. การจัดการความปลอดภัยในจุดเสี่ยงภัย โดยจัดตั้งศูนย์แพทย์กู้ชีพในอุทยาน
3. การแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้ อพท. สามารถปฏิบัติงานได้ครอบคลุมพื้นที่เขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง
8 เขต
“ขอให้มีการวางรากฐานการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน ด้วยการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาครัฐ
ภาคเอกชน และท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยการนำอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นเข้ามาใช้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองรองและชุมชน”
นางกอบกาญจน์ กล่าว
***********
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น