16/5/60Xดีโพลมานิวส์สายกลางข่าวโรงพยาบาล (ผักบุ้ง...รายงาน)
รพ.จุฬาลงกรณ์ รักษาต้อกระจกด้วยเทคโนโลยีล่าสุด
แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วันนี้ (16 พฤษภาคม 2560) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
สภากาชาดไทย ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานแถลงข่าว “รพ.จุฬาลงกรณ์ รักษาต้อกระจกด้วยเทคโนโลยีล่าสุด
แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ณ โถงชั้น 1 อาคาร ส.ธ. เพื่อตอกย้ำความก้าวหน้าการรักษาด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย
มีความแม่นยำ ปลอดภัยต่อผู้มารับบริการ
ศ.นพ.สุทธิพงศ์
วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ได้มุ่งมั่นยกระดับการรักษาโรคสำหรับประชาชนชาวไทยอย่างต่อเนื่อง
โดยได้วางยุทธศาสตร์ในการบริหารงานบริการทางการแพทย์ที่เหนือระดับ
รองรับการบริหารงานในระดับอาเซียนและระดับนานาชาติ รวมถึงพยายามอำนวยความสะดวกในทุกๆ
ด้านให้ผู้มารับบริการทุกระดับชั้นให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
โดยโรงพยาบาลมีวิสัยทัศน์ คือ “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ ที่มีคุณธรรม
ด้วยคุณภาพมาตรฐานระดับนานาชาติ” และมีแผนยุทธศาสตร์
ในการยกระดับความสามารถทางการแพทย์ และการรักษาพยาบาลของประเทศในด้านการบริการ (Service)
ให้มีความสามารถในการรักษาผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อนด้วยความเชี่ยวชาญพิเศษพร้อมด้วยเทคโนโลยีการรักษาชั้นสูงที่ทันสมัยที่สุด
ซึ่งฝ่ายจักษุวิทยาได้นำเครื่องมือวิเคราะห์ วางแผนก่อนผ่าตัดและกำหนดตำแหน่งการใส่เลนส์เทียมระบบดิจิตอล
โดยเฉพาะเครื่องวัดเลนส์แก้วตาเทียม มาใช้ในขณะสลายต้อกระจก
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยให้แม่นยำและสามารถมองเห็นได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับระบบการตรวจวินิจฉัยและสลายต้อกระจกครบวงจรดังกล่าวสามารถใช้กับผู้ป่วยอย่างไร
ขอให้หัวหน้าฝ่ายจักษุวิทยาชี้แจงต่อไป
รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์
หัวหน้าฝ่ายจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีในการตรวจวินิจฉัย
และการรักษาต้อกระจกครบวงจร มากถึง 6 ชุด เป็นระบบ
CATARACT
SUITE & LASER ABERROMETER ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ระบบดิจิตอลและเครื่องมือวัดเลนส์แก้วตาเทียม ที่ใช้ในขณะสลายต้อกระจกที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งการทำงานจะประกอบด้วย
1.ชุดเครื่องมือวิเคราะห์วางแผนก่อนผ่าตัด
และกำหนดตำแหน่งการใส่เลนส์เทียมระบบดิจิตอล ซึ่ง
ประกอบด้วย
-เครื่องวัดเลนส์แก้วตาเทียมรุ่นล่าสุดที่มีเลเซอร์ประกอบ
สามารถวัดสัดส่วนดวงตาได้แม่นยำ และตรวจเช็คความผิดปกติทางจุดศูนย์กลางของจอรับภาพ
และถ่ายภาพเส้นเลือดรอบกระจกตาเพื่อใช้ประกอบระบบดิจิตอล
-เครื่องวิเคราะห์ความเอียงของกระจกตา
สำหรับวางแผนการเลือกชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมเพื่อแก้สายตาเอียงและวัดกำลังของกระจกตาในการคำนวณค่าเลนส์
- Reference Unit สำหรับถ่ายภาพดวงตาผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด
พร้อมกับทำการวัดข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการผ่าตัด เช่น ค่าความโค้งกระจกตา
รูม่านตา แกนการมองเห็นของดวงตา ฯลฯ แล้วนำค่าที่ได้มาวิเคราะห์
วางแผนการผ่าตัดที่เฉพาะเจาะจงสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
- Digital Marker เครื่องกำหนดตำแหน่งการใส่เลนส์เทียมระบบดิจิตอล
ข้อมูลผู้ป่วยแต่ละรายจาก Reference Unit
จะถูกส่งผ่านมายังเครื่อง Digital Marker
ซึ่งอยู่ในห้องผ่าตัด ขณะผ่าตัดเครื่องจะสร้างภาพระบบดิจิตอลให้แพทย์ทราบตำแหน่งที่จะสร้างแผลผ่าตัด
กำหนดขนาดถุงหุ้มเลนส์ที่ต้องการเปิด
กำหนดตำแหน่งและแกนของเลนส์เทียมที่ใส่ทดแทนได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ
2. เครื่องเลเซอร์ต้อกระจก (Femtosecond Laser)
เป็นการนำเครื่องนี้เข้ามาช่วยเสริมในบางขั้นตอนของการผ่าตัดของต้อกระจกตามวิธีมาตรฐานที่ใช้คลื่นเสียงความถี่สูง
ในการสลายเลนส์ตาที่ขุ่นมัวและดูดออก ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับข้อมูลที่ได้จาก Reference
Unit
3.เครื่องสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification
machine) หลังจากทำการเปิดแผลขนาดเล็กที่กระจกตา ขนาดประมาณ 2-3
มิลลิเมตร เปิดถุงหุ้มเลนส์ และแบ่งเลนส์แล้ว
แพทย์จะใช้เครื่องสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูง
โดยสอดหัวสลายและดูดต้อกระจกผ่านแผลที่กระจกตา
เพื่อส่งผ่านคลื่นเสียงความถี่
สูงที่ทำให้เลนส์สลายและถูกดูดออกไปจากถุงหุ้มเลนส์จนหมด จึงจะทำการใส่เลนส์เทียมเข้าทดแทน
ปัจจัยสำคัญในขั้นตอนนี้คือการควบคุมสภาวะต่าง ๆ ภายในลูกตาให้คงที่
ทั้งความดันในลูกตา พลังงานที่ใช้ อุณหภูมิในลูกตา ฯลฯ
เพื่อให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่น และปลอดภัย
4.เครื่องตรวจวัดค่าสายตาระหว่างผ่าตัดแบบ Real-time (laser
Aberrometer) เป็นเครื่องที่ใช้ในการตรวจวัดค่าสายตาระหว่างผ่าตัด สามารถวัดได้ทั้งก่อนใส่เลนส์เทียม
ระหว่างการใส่เลนส์เทียมให้ตรงกับตำแหน่งที่ต้องการ
และเมื่อใส่เลนส์เทียมในตำแหน่งที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว
เครื่องนี้จะเป็นการแนะนำและยืนยันตำแหน่งของการใส่เลนส์เทียม องศาของเลนส์ และกำลังของเลนส์เทียมที่เหมาะสม
เพื่อให้ได้ค่าสายตาตามที่วางแผนไว้ ซี่งการใช้เครื่องในการตรวจวัดค่าสายตาระหว่างผ่าตัดแบบ
Real-time ร่วมกับชุดเครื่องมือวิเคราะห์วางแผนก่อนผ่าตัดและกำหนดตำแหน่งการใส่เลนส์เทียมระบบดิจิตอล
จะเป็นการร่วมกันในการตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำของการเลือกใช้เลนส์เทียมและการวางตำแหน่งเลนส์เทียม
เพื่อให้ผลของการผ่าตัดออกมาได้ตามที่ต้องการอย่างดีที่สุด
รศ.(พิเศษ)นพ.ภาคภูมิ คัมภีร์พันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจักษุวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึง
เครื่องสลายต้อกระจกด้วยเลเซอร์ (Femtosecond Laser Cataract Surgery
Machine) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการรักษาต้อกระจก
โดยใช้ร่วมกับการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงแบบมาตรฐาน (
Phacoemulsification ) มีคุณสมบัติที่สำคัญคือสามารถฉายแสงเลเซอร์ลงไปบนกระจกตา
ตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ โดยเลซอร์จะตัดถุงเยื่อหุ้มเลนส์ตาด้านหน้า
และตัดเนื้อเลนส์ตาเป็นชิ้นที่เล็กไว้ล่วงหน้าเพื่อลดพลังงานที่จะใช้จากเครื่องผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงแบบมาตรฐาน
และยังสามารถใช้เลเซอร์ตัดกระจกตาแทนการใช้ใบมีด เพื่อช่วยเปิดแผลทั้งในบริเวณที่จะใช้เครื่องมือสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูงใส่เข้าไป
หรือยิงเลเซอร์ลงบนผิวกระจกตา ในกรณีที่ต้องการให้เลเซอร์ปรับลดค่าสายตาเอียงที่อาจเหลืออยู่บนผิวกระจกตาโดยปรับตำแหน่งตามที่คำนวณไว้
ซึ่งจะช่วยให้การรักษามีความแม่นยำ มีประสิทธิภาพ และครบวงจรมากยิ่งขึ้น
รวมทั้งช่วยลดอาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด เช่น ลดพลังงานที่ใช้ในการสลายต้อกระจก และ
การผ่าตัดมีการฟื้นตัวได้เร็ว ทำให้ผู้ป่วยหลังผ่าตัดมองเห็นได้เร็วขึ้น
รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ หัวหน้าศูนย์เลเซอร์สายตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
เมื่อเดือนเมษายน 2558 ศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาฯ ได้ย้ายมาจากอาคาร ภปร 11
มาเปิดให้บริการ ณ อาคาร 14 ชั้น ศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาฯ
เป็นศูนย์รวมการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาสายตาผิดปกติ
ให้บริการเพื่อแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติชนิดต่างๆ อาทิ สายตาสั้น, สายตายาว, สายตาเอียง, สายตายาวตามอายุ,
โรคกระจกตาโก่ง
รวมทั้งเป็นศูนย์วิเคราะห์และให้การรักษาปัญหาตาแห้งทุกชนิด
ทั้งนี้เพื่อให้เป็นการบริการที่ ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ โดยเน้น “คุณภาพและความปลอดภัย” โดยศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาฯ
ใช้อุปกรณ์ในการตรวจวิเคราะห์
และใช้เลเซอร์ในการรักษาที่มีคุณสมบัติเฉพาะและมีความแม่นยำสูงในการผ่าตัดแก้ไขปัญหาโรคความผิดปกติทางสายตาทั่วไปและที่ซับซ้อน
และในกรณีที่เป็นผู้ป่วยที่มีสายตาผิดปกติแต่ยังไม่เหมาะสมที่จะทำการสลายต้อกระจก
หรือกรณีที่ได้ทำผ่าตัดต้อกระจกไปแล้ว แต่ยังมีปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียง
หรือสายตายาวตามอายุหลงเหลืออยู่ ทางศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาฯ
ก็สามารถที่จะทำการแก้ไขให้ได้ผลที่ดียิ่งขึ้น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหากผู้ป่วยที่มีปัญหาสายตา
เมื่อมาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แล้ว ฝ่ายจักษุวิทยาสามารถที่จะแยกแยะและแก้ไขปัญหาให้ผู้ป่วยได้ครบวงจรอย่างเป็นมาตรฐาน
ถูกต้อง เหมาะสม และปลอดภัย
นางพรทิพย์ ควรคิด หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวเสริมว่า
วิวัฒนาการในด้านการรักษาสายตาผิดปกติมีความก้าวหน้าล้ำสมัยไปอย่างรวดเร็ว
ที่ผ่านมา ฝ่ายจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาเป็น
“แห่งแรกในประเทศไทย”และยังเป็นโรงพยาบาลที่มีการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตามากที่สุดในประเทศ
รวมถึงมีศูนย์เลเซอร์รักษาสายตาที่ทันสมัย มุ่งเน้นคุณภาพและประสิทธิภาพในการบริการด้านการแก้ไขสายตาผิดปกติอย่างครบวงจร
และกำลังดำเนินการจัดตั้งศูนย์โรคต้อกระจก
โดยปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ถือว่าเป็นสถานบริการทางการแพทย์ที่มีความทันสมัยที่สุดในเทคโนโลยีการรักษาต้อกระจกในอาเซียน
สามารถรองรับผู้ป่วยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
รวมถึงเป็นแหล่งการเรียนการสอนที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ
เพื่อให้การบริการผู้ป่วยที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งตอกย้ำวิสัยทัศน์คือ “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
เป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ ที่มีคุณธรรม
ด้วยคุณภาพมาตรฐานระดับนานาชาติ” เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในด้านบุคลากร
อุปกรณ์ที่ครบครันทันสมัยและแผนงานที่มีประสิทธิภาพ สมดังปณิธานแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มุ่งสู่ “โรงพยาบาลอันวิจิตร
ต้องกับความนิยม ทั้งกอปรไปด้วยเครื่องมือเครื่องใช้เป็นอย่างดีที่สุด...
อันเท่าเทียมกับนานาประเทศ”
*************************************
ขอแนะนำเฉพาะคลิปดีๆคลิปแรกที่มีชื่อด้านล่างและด้านบนนี้เท่านั้น…..
คลิปอื่นที่ต่อเนื่องติดมาไม่เกี่ยวข้องกับเรา
เป็นเรื่องของคนอื่น…..
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น