ตอบคุณสำราญเรื่องบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน : คือใคร ? มีสิทธิแค่ไหนในประเทศไทย ?
เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ เวลา ๑๑.๓๓ น. มีอีเมลล์ส่งผ่าน support@gotoknow.org จากคุณ sumran โดย XXX@hotmail.com และใช้หัวเรื่องว่า “อยากรู้เรื่องสิทธิ” มาถึงอาจารย์แหววว่า “คือผมอยากทราบว่าสิทธิของบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ว่ามีสิทธิอะไรบ้างในการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย/ เช่นว่าไปไหนมาไหนซื้อรถ/บ้านได้หรือเปล่า...คืออีกมากมายที่เป็นสิทธิที่ควรจะนะคับจึ่งอยากขอความกรุณาอาจารย์ช่วยตอบให้กระผมหน่อยนะคับขอขอบพระคุณไว้นะที่นี้เป็นอย่างสูงคับผม.....”
เพื่อให้คำตอบนี้ เราควรจะต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนคือใคร ? แล้วจึงค่อยมาเรียนรู้ว่า บุคคลในสถานการณ์ดังกล่าวจะมีสิทธิอย่างใดในประเทศไทย ?
บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนคือใคร ?
บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ก็คือ บุคคลที่รัฐไทยรับฟังว่า ยังพิสูจน์สถานะทางกฎหมายว่าด้วยสิทธิในสัญชาติไม่ได้ หรือพิสูจน์ได้แล้วว่า เป็นคนต่างด้าวก็ยังส่งกลับประเทศต้นทางไม่ได้ บัตรประเภทนี้จึงถูกออกให้บุคคลในสถานการณ์ดังกล่าวหลังจากการจัดทำทะเบียนประวัติตามกฎหมายทะเบียนราษฎร เพื่อให้บุคคลดังกล่าวได้ใช้เป็นเอกสารรับรองตัวบุคคลในระหว่างรอการกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายใหม่ หรือรอการส่งกลับออกนอกประเทศไทย
สาเหตุที่รัฐไทยยอมรับออกเอกสารรับรองตัวบุคคลให้บุคคลในสถานการณ์ข้างต้น ก็เพราะบุคคลดังกล่าวประสบปัญหาความไร้รัฐ หรือที่เรียกได้เต็มๆ ว่า “ไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” กล่าวคือ ไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ คนเข้าเมือง ตลอดจนการทะเบียนราษฎร
โดยกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐไทยหรือนานารัฐบนโลกจึงมีหน้าที่รับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Recognition of Legal Personality) และโดยมาตรา ๓๘ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งรองรับหลักกฎหมายระหว่างประเทศข้างต้น รัฐไทยจึงบันทึก “คนไร้รัฐ” ที่พบในประเทศไทยในทะเบียนประวัติตามกฎหมายทะเบียนราษฎรประเภท ท.ร.๓๘ ก. ซึ่งทะเบียนประวัตินี้มีชื่อว่า “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” หรือหากจะเรียกให้ครบถ้วนก็คือ “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร” และผลต่อมา ก็คือ การได้รับบัตรประจำตัวบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎรไทยที่มีชื่อว่า “บัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร”
เอกสารที่รัฐไทยอาจออกในคนไร้รัฐ หรือ "บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน" ที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ถูกกำหนดรูปแบบไว้ใน ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘ ดังนั้น ผู้ที่ถือบัตรนี้จึงไม่ไร้รัฐ และเป็นบุคคลที่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรตามกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง
บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนมีสิทธิอย่างใดในประเทศไทย ?
๑. ในเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานนั้นไม่มีปัญหา
๑.๑. มีสิทธิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา ๔ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐
๑.๒. มีสิทธิทางการศึกษา เรียนได้ จบได้วุฒิการศึกษา
๑.๓. มีสิทธิได้รับรักษาพยาบาลได้ แต่ยังไม่ได้หลักประกันสุขภาพแบบบังคับ แต่อาจใช้หลักประกันสุขภาพทางเลือก
๑.๔. มีสิทธิทำมาหาเลี้ยงชีพได้
๑.๕. มีสิทธิเดินทางเพื่อการศึกษาและรักษาพยาบาล
๒. สิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายที่เหมาะสม
๒.๑. หากมีข้อเท็จจริงฟังว่า มีสัญชาติไทย ก็ร้องขอพิสูจน์สัญชาติไทยได้
๒.๒. หากมีข้อเท็จจริงว่า เป็นคนต่างด้าวที่อาจได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองและอาศัยอยู่อย่างถูกกฎหมาย ก็ร้องขอสิทธิดังกล่าวได้
๒.๓. ในระหว่างที่ยังมีสถานะบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ก็ไม่มีสถานะของคนไร้รัฐแล้ว เพราะมีสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทยแล้ว เพียงแต่ในขณะรอการกำหนดสิทธิในสถานะบุคคลที่เหมาะสมต่อไป ก็ยังมีสถานะเป็นคนที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ได้รับการผ่อนผันให้สิทธิอาศัยในประเทศไทยในพื้นที่ที่ได้รับการทำทะบียนประวัติ ก็คือ พื้นที่ที่ระบุในบัตร โดยสรุป มีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนอยู่ชั่วคราว แม้จะยังไร้สัญชาติและไร้สถานะคนเข้าเมืองที่ชอบด้วยกฎหมาย
๓. สิทธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
๓.๑. มีสิทธิทำงาน แต่ต้องขออนุญาต และต้องไม่ทำอาชีพที่สงวนให้คนสัญชาติไทย
๓.๒. มีสิทธิลงทุนประกอบธุรกิจ แต่ต้องขออนุญาต และต้องไม่ทำธุรกิจที่สงวนให้คนสัญชาติไทย
๓.๓. มีสิทธิในทรัพย์สิน จึงซื้อเช่าหรือทำนิติกรรมตามกฎหมายเอกชนเกี่ยวกับทรัพย์สินได้ แต่ไม่อาจมีกรรมสิทธิในอสังหาริมทรัพย์
๓.๔. ดังนั้น ซื้อบ้านได้ แต่ถือครองกรรมสิทธิในบ้านไม่ได้
๓.๕. ซื้อรถได้ และถือครองกรรมสิทธิ์ในรถได้ เพราะรถมิใช่อสังหาริมทรัพย์ แต่ในความเข้าใจของสภาความมั่นคงแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบกยังมีปัญหาซึ่งในขณะนี้ มีข้อเรียกร้องของเอนจีโอให้มีการยกร่างกฎมายในระดับกฎหมายปกครองให้เป็นที่เข้าใจต่อสาธารณชน
๓.๖. มีสิทธิในการเดินทางเพื่อประกอบอาชีพ แต่ต้องขออนุญาต
๔. สิทธิในการเข้าร่วมทางการเมือง
๔.๑. ไม่มีสิทธิเข้าร่วมทางการเมืองเลย
๔.๒. ถ้าเข้าร่วม ก็จะมีโทษทางอาญาค่ะ
๕. สิทธิในการกระบวนการยุติธรรม
๕.๑. มีสิทธิฟ้องคดีทั้งแพ่ง พาณิชย์ อาญา ปกครอง
๕.๒. มีโอกาสถูกฟ้องเป็นจำเลยทั้งในคดีแพ่ง พาณิชย์ และอาญา แต่ก็มีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาค กล่าวคือ อาจร้องขอทนายความจากศาล ศาลต้องรับฟังคำให้การแก้ฟ้องอย่างเท่าเทียมกับคนที่มีสัญชาติ
๕.๓. จะถูกจำคุกเพราะไม่ชำระหนี้ทางสัญญาไม่ได้
๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑
“ขอขอบคุณและให้เครดิตเจ้าของภาพ/ข่าว/โลโก้/รายชื่อ/ตามที่ปรากฏอยู่…..
เหนือ/ใต้/ซ้ายขวา/และภายในภาพ/ข่าวทั้งหมดนี้”...
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น